
วันนี้เป็นวันที่ครบ 1 สัปดาห์ที่ผมได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยและประชาคมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาให้มารับหน้าที่คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อจาก ดร. อาณัติ ดีพัฒนา (พี่เอ) ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง 2 วาระ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา โดยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ในสมัยของผมนี้จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ระหว่างวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561 ถึง 22 กันยายน พ.ศ. 2565
ผมตัดสินใจสร้าง Blog นี้ขึ้นมา โดยมีความมุ่งหมายจะบันทึกและเผยแพร่ผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าของฝ่ายบริหารในการขับเคลื่อนคณะของเราและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้แก่ประชาคมผู้ปฏิบัติงานในคณะฯ ได้ทราบ ตั้งใจให้เป็นการยกระดับการจัดการสื่อสารภายในองค์การของเราให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น รวมทั้ง promote การมีส่วนร่วมของพวกเราทุกคนในการกำหนดทิศทาง บริหาร และขับเคลื่อนคณะของเราครับ
ผมตั้งใจจะ Update Blog นี้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ด้วยตนเอง โดยจะสรุปข่าวสาร และความคืบหน้าเรื่องต่าง ๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ทุกท่านได้ทราบและติดตาม รวมทั้งแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะครับ
งานสำคัญในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
มอบนโยบายให้แก่สำนักงานคณบดี
ในวันแรกของการทำงาน (จันทร์ 24 กันยายน 2561) ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณบดี ซึ่งตามปกติจะนัดประชุมกันทุกวันจันทร์ตอนเช้า และได้มอบหลักการและนโยบายการทำงานของฝ่ายสนับสนุนวิชาการ ดังนี้
- ขอให้ทำงานอย่างซื่อสัตย์ มีวินัย และตรงต่อเวลา
ผมถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในองค์การของรัฐที่เน้นประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการตรงต่อเวลา ไม่ว่าจะเป็นการมาทำงาน หรือการทำงานให้สำเร็จตามกำหนด/เป้าหมาย - เน้นการทำงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์
งานสนับสนุนวิชาการมี Pain Point สำคัญคือความยุ่งยากซับซ้อนของกฎระเบียบสร้างภาระให้กับผู้ปฏิบัติงานในทุก ๆ ส่วนอย่างมาก ทำให้เกิดความล่าช้า และต้นทุน (เวลาเป็นต้นทุนสำคัญ) สูงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบที่สามารถจัดการงานที่มีประสิทธิภาพ เช่น การนำระบบอัตโนมัติหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์เช้ามาใช้ อย่างไรก็ดีการปรับระบบคิด หรือ Mindset ของผู้ปฏิบัติงานในการให้ความสำคัญกับการมุ่งไปยังผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์เป็นปัจจัยหลัก - ใส่ใจการพัฒนาสมรรถนะของตนเอง
เราตั้งเป้าหมายในการเป็นองค์การอัจฉริยะ ที่มีการนำเอาระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ ดังนั้น สมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานอันดับแรกและเป็นจุดเน้นที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้สามารถใช้ระบบและเครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่ว - การทำงานเป็นทีม
Team Work หรือ Synergy 1+1 > 2 เป็นสไตล์การทำงานที่จำเป็น ต้องทำลายวัฒนธรรม/ความเชื่อที่บั่นทอนประสิทธิภาพขององค์การ เช่น ความคิดที่ว่าไม่ควรไปอาสาทำงานช่วยคนอื่น เพราะอาจจะถูกมอบหมายให้เป็นความรับผิดชอบของตนเอง เพิ่มงาน เป็นวัฒนธรรมที่เห็นความสำเร็จของส่วนรวมเป็นความสำเร็จของตนเอง
ผมเชื่อว่าพี่ ๆ น้อง ๆ สายสนับสนุนวิชาการในสำนักงานคณบดีจะนำเอาหลักการเหล่านี้มาใช้ในการทำงานและพัฒนางาน เพื่อให้เรายังคงรักษาแชมป์ในฐานะของสำนักงานฯ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำนักงานหนึ่งในมหาวิทยาลัย และสามารถเทียบเคียงได้กับหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพสูงอื่น ๆ ภายนอกมหาวิทยาลัยด้วยนะครับ
ทาบทามและแต่งตั้งทีมบริหาร
ผมได้ทาบทามและเสนอแต่งตั้งทีมรองคณบดี ที่จะเข้ามาช่วยกำกับดูแลงานด้านต่าง ๆ ของคณะเรา จำนวน 6 ท่าน โดยท่านอธิการบดีแจ้งว่าได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีผลบังคับในวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ทีมรองคณบดีจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเช่นเดียวกับคณบดี คือครบวาระในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2565 รายชื่อทีมรองคณบดี มีดังนี้ครับ
1. ดร. ภาณุวัฒน์ ด่านกลาง (อ. ก้อง)
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ
![]() |
ดร. ภาณุวัฒน์ ด่านกลาง |
อาจารย์ก้องฯ จะดูแลระบบการจัดการศึกษา ทุกระดับ และการประกันคุณภาพ ระดับ หลักสูตรด้วยระบบ AUN/QA
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นรรัตน์ วัฒนมงคล (อ. ช้าง)
รองคณบดีฝ่ายวิจัย บริการวิชาการ และนวัตกรรม
![]() |
ผศ. ดร. นรรัตน์ วัฒนมงคล |
อาจารย์ช้างฯ จะดูแลระบบบริหารการวิจัย บริการวิชาการ และนวัตกรรม และเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับพันธกิจการวิจัยฯ ให้เป็นพันธกิจหลักผ่านทางศูนย์พหุวิทยาการ (Interdisciplinary Centres) ของคณะฯ
3. ดร. สัญชัย เอียดปราบ (อ. เต้)
รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต
![]() |
ดร. สัญชัย เอียดปราบ |
ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ในการพัฒนาศักยภาพของนิสิตให้ก้าวสู่ระดับชาติ โดยจัดทีมและผลักดันให้นิสิตทั้งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะอื่น ๆ เข้าร่วมการแข่งขันทางวิชาการระดับชาติหลายรายการ เช่น Start Up Thailand และ 24 Hours of Innovation จนได้รับรางวัลมากมาย
อาจารย์เต้ฯ จะดูแลระบบการพัฒนานิสิต ระบบสวัสดิการและสวัสดิภาพนิสิต รวมทั้งการฝึกงานและสหกิจศึกษา
4. ดร. ทนงศักดิ์ เทพสนธิ (อ. นง)
รองคณบดีฝ่ายบริหารยุทธศาสตร์และการเงิน
![]() |
ดร. ทนงศักดิ์ เทพสนธิ |
อดีตรองคณบดีจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ผู้มีประสบการณ์ทางด้านการบริหารยุทธศาสตร์ ธุรกิจ และการเงิน มีความรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบคุณภาพต่าง ๆ เคยดูแลระบบและหลักสูตรที่สำคัญ ๆ ของคณะมาเป็นจำนวนมาก เช่น หลักสูตร ทล.บ. หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ฯลฯ
อาจารย์นงฯ จะดูแลระบบการบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาคณะ วางและกำกับแผนกลยุทธ์การเงิน ระบบการกำกับผลงานและการประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมทั้งระบบการพัฒนาบุคลากร (HRD)
5. ดร. ปิติ โรจน์วรรณสิทธุ์ (อ. เป๊ก)
รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาองค์การ
![]() |
ดร. ปิติ โรจน์วรรณสินธุ์ |
อดีตรองคณบดีอีกท่านหนึ่งที่เข้ามาร่วมทีมใหม่ เป็นผู้ตรวจประเมินคุณภาพตามระบบ EdPEx มีประสบการณ์ตรวจประเมินในระดับส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา เป็นผู้มีประสบการณ์ในการบริหารที่หลากหลาย และมีความรู้ความเข้าใจในระบบการบริหารงาน การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นอย่างดี
อาจารย์เป๊กฯ จะดูแลระบบการบริหารทั่วไป (Daily Operations) ของคณะ ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารทรัพยากรบุคคล (HRM) การประสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ และระบบการประกันคุณภาพระดับคณะตามระบบ EdPEx
6. รศ. ดร. ธงชัย ศรีวิริยรัตน์ (อ. ธง)
รองคณบดีฝ่ายพัฒนาองค์การอัจฉริยะ
![]() |
รศ. ดร. ธงชัย ศรีวิริยรัตน์ |
วิศวกรสิ่งแวดล้อม ผู้มีความสนใจและความสุขในการพัฒนาระบบไอทีเพื่อการบริหาร มีผลงานในการพัฒนาระบบไอทีสำหรับการปรับเปลี่ยนการดำเนินการไปสู่ระบบอัตโนมัติ เช่น ระบบการบริหารงานวิจัย ระบบการโอนเงินค่าตอบแทน ระบบการจัดการการประชุมวิชาการ ฯลฯ และเป็นผู้หนึ่งที่เข้าใจระบบการบริหารงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นอย่างดี
อาจารย์ธงชัยฯ จะดูแลการพัฒนาระบบต่าง ๆ ของคณะไปสู่ระบบอัตโนมัติ และดูแลระบบสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
ทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการประจำคณะ
ตามที่ผมได้เสนอโครงสร้างของกรรมการประจำคณะผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกคณะไว้ โดยเน้นการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในแต่ละด้านที่ตรงกับบริบทและความท้าทายของคณะวิศวกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน โดยกรรมการคณะในสมัยนี้ จะเป็น Policy Body ให้นโยบาย ตั้งเป้าหมาย กำหนดยุทธศาสตร์และกำกับผลการดำเนินการต่าง ๆ โดยผมจะตั้งกรรมการบริหารขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อลดภาระการดำเนินการที่เป็นงานประจำของคณะกรรมการประจำฯ ในขอบเขตที่ข้อบังคับกำหนดให้กระทำได้
ในสัปดาห์นี้ผมได้ทาบทามและได้รับการตอบรับจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดแล้ว ดังนี้ครับ
![]() |
ศ. ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ |
1. ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ (ศ. 11)
ศาสตราจารย์เงินเดือนขั้นสูง หรือ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 สาขา วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้มีประสบการณ์ในการพัฒนางานวิจัยในสภาวะแวดล้อมที่มีทรัพยากรจำกัดไปสู่การสร้างผลงานวิจัยระดับโลก
2. รองศาสตราจารย์ ดร. อธิคม ฤกษบุตร (ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้สมัยใหม่)
![]() |
รศ. ดร. อธิคม ฤกษบุตร |
รองอธิการบดี และอดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครผู้ที่มีความสนใจและเชี่ยวชาญด้านวิศวศึกษา (Engineering Education) เป็นอย่างยิ่ง โดยได้นำเอาวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดการเรียนรู้สาขาวิศวกรรมศาสตร์มาใช้อย่างได้ผล และเป็นวิทยากรในด้านนี้ให้แก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ในหลายมหาวิทยาลัย
3. ดร. พีระพงษ์ สุนทรวิภาต (ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยาบุคคลและ EEC)
![]() |
ดร. พีระพงษ์ สุนทรวิภาต |
4. ดร. ศิรดา จารุตกานนท์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและบัญชี)
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและระบบบัญชี และอาจารย์ประจำสาขาการบัญชีและการเงิน คณะการจัดการและการท่องเที่ยว เป็นผู้ที่มีรู้ความชำนาญทางด้านการเงินและบัญชีสำหรับการบริหารวิสาหกิจที่มีพลวัตรสูง และมีความเข้าใจบริบทของส่วนงานในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี
5. คุณพรพนา รัตนเชษฐ์ (นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์)
ศิษย์เก่าและอดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นผู้ประสบการณ์สูงในการพัฒนาและบริหารธุรกิจ และเป็นผู้บริหารระดับสูงของ LK Group เป็นผู้ที่ทุ่มเทร่วมก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนแรก มีผลงานกิจกรรมในการส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาศิษย์เก่าจำนวนมาก
งานเร่งด่วน: การปรับปรุงหลักสูตร 62 (2 หลักสูตรที่ครบกำหนดปรับปรุง)
ในจำนวนหลักสูตรที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงให้มีความทันสมัยและเป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรนั้น มี 2 หลักสูตรได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และ สาขาวิศวกรรมระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) ที่ต้องทำการปรับปรุงให้เสร็จอย่างเร่งด่วนเนื่องจากครบกำหนดต้องปรับปรุง และให้ทันกับการเปิดรับนิสิตในปีการศึกษาหน้า หากปรับปรุงไม่ทัน จะมีความเสี่ยงต่อการไม่ผ่านมาตรฐานการกำกับคุณภาพ ซึ่งจะทำให้นิสิตในหลักสูตรไม่สามารถกู้ กยศ. หรือดำเนินการเรื่องอื่น ๆ ได้
ดังนั้นจากการหารือกับ ดร. มัณฑณา อดีตรองคณบดี กำกับดูแลงานวิชาการ จึงได้เชิญกรรมการยกร่างหลักสูตรปรับปรุงมาทำ Workshop เพื่อดำเนินการปรับปรุงให้เสร็จเรียบร้อยและกำหนด Time Frame สำหรับการเสนอมหาวิทยาลัยอนุมัติต่อไปเป็นลำดับ
จาก Timing ที่วิเคราะห์ในขณะนี้ คาดว่าหลักสูตรจะสามารถเปิดรับนิสิตได้ใน TCAS รอบที่ 2 เป็นต้นไป
ความร่วมมือด้าน Smart Living กับ อบจ. ชลบุรีเพื่อยกระดับการแพทย์ฉุกเฉินใน จ. ชลบุรี
เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561 อธิการบดี อาจารย์วิรุฬห์ และผม ได้เข้าร่วมประชุมร่วมกับ นพ. ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน คุณวิทยา คุณปลื้ม นายก อบจ. ชลบุรี และคุณณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อยกระดับระบบการแพทย์ฉุกเฉินใน จ. ชลบรี
ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการในการให้ อบจ. รับโอนศูนย์แจ้งเหตุฉุกเฉิน (1669) ที่สพฉ. ฝากให้โรงพยาบาลชลบุรีดำเนินการมาดูแล และให้ตั้งศูนย์ฯ ที่อบจ. และพัฒนาให้เป็นระบบที่ครอบคลุมทันสมัยมากขึ้น โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ Partner เอกชนเป็นผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยี (รศ. วิรุฬห์)
การดำเนินการดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำนวัตกรรมที่คณะสร้างสรรค์ขึ้นมาไปใช้ประโยชน์แก่สังคมนะครับ โดยจะได้นำไปเป็นกรณีศึกษาสำหรับการตั้งศูนย์พหุวิทยาการ (ICs) ต่อไป