Tuesday, 6 November 2018

Week 6 การตรวจประกันคุณภาพระดับมหาวิทยาลัย ระบบสื่อสารภายในคณะ และการมอบอำนาจช่วง

การตรวจประกันคุณภาพระดับมหาวิทยาลัยประจำปีการศึกษา 2560

สัปดาห์นี้ เป็นสัปดาห์แห่งการตรวจประกันคุณภาพการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ตามระบบ CUPT QA ซึ่งมหาวิทยาลัยจะตรวจประเมินตามระบบนี้เป็นปีสุดท้าย ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ระบบการประเมินด้วยระบบ EdPEx 

อ่านรายงานการประเมินตนเองประจำปีการศึษา 2560 ได้ ที่นี่

ในปีนี้คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพผู้ทรงคุณวุฒิได้รายงานผลการประเมินและได้ให้ข้อเสนอแนะสำคัญ ๆ ในการพัฒนามหาวิทยาลัยมากมาย เช่น การสรรหามาตรการในการดึงดูดผู้เรียนให้ได้ตามเป้า ระบบการบริการแบบ One Stop Service การกำหนดเป้าหมายการวิจัยในภาพใหญ่ของมหาวิทยาลัย และการยกระดับคุณภาพการวิจัยของมหาวิทยาลัยสู่สากลและปรับปรุงอันดับของมหาวิทยาลัยเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน  สำหรับคะแนนที่ได้ในปีนี้ มหาวิทยาลัยจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

การวางระบบการสื่อสารภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์

เพื่อให้การสื่อสารภายในคณะฯ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ และลดปัญหาการไม่ได้รับข่าวสารข้อมูล คณะฯ จึงได้กำหนดรูปแบบและวิธีการสื่อข้อมูลข่าวสารภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยออกเป็นประกาศให้ทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วกันครับ

สาระสำคัญตามประกาศนี้คือ ให้การสื่อสารด้วยอีเมล์เป็นการสื่อสารที่เป็นทางการ และขอให้บุคลากรทุกท่านใช้อีเมล์หลักของคณะ @eng.buu.ac.th  เป็นหลักสำหรับการรับ/ส่งเอกสารและข่าวสารที่เร่งด่วน  ทั้งนี้ ท่านที่สะดวกใช้ระบบอีเมล์ของมหาวิทยาลัยบัญชีอื่น สามารถติดต่อคุณต้น ที่ห้องคอมพิวเตอร์ เพื่อตั้งค่าให้สามารถรับอีเมล์จากระบบอีเมล์หลักของคณะในบัญชีที่ท่านต้องการได้

นอกจากนั้นคณะฯ ยังได้กำหนดให้ปฏิทิน Google Calendar เป็นวิธีการสื่อสารอย่างเป็นทางการในการนัดหมาย และเชิญประชุม จึงขอความร่วมมือให้บุคลากรทุกท่านลงตารางสอน/นัดหมายในระบบ http://calendar.eng.buu.ac.th ให้เป็นปัจจุบัน

โดยขณะนี้จะเป็นช่วงทดลองใช้ระบบการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์จนถึงสิ้นปี โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 62 เป็นต้นไป คณะจะใช้การสื่อสารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ และงดการส่งบันทึกข้อความแจ้งข่าวทั่วไป และการส่งหนังสือเชิญในรูปแบบกระดาษ

จึงขอความร่วมมือมายังทุกท่าน เพื่อให้คณะของเราได้พัฒนาไปสู่การเป็นองค์การอัจฉริยะ ที่ประหยัดทรัพยากรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดูประกาศฉบับเต็มได้ ที่นี่

การมอบอำนาจช่วงและการมอบหมายงานให้รองคณบดีปฏิบัติงานแทน


เพื่อให้การบริหารงานคณะฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการกระจายอำนาจการบริหารงาน  ด้วยความเห็นชอบของคณบดี ผมจึงได้ออกคำสั่งการมอบอำนาจช่วงและมอบหมายงานให้รองคณบดีปฏิบัติงานแทนในบางเรื่อง ดังรายละเอียดต่อไปนี้ครับ



Sunday, 28 October 2018

Week 5 Co-Working Space แนวทางการสรรหาหัวหน้าภาควิชา

ในสัปดาห์ที่ 5 ของการบริหารงานคณะวิศวกรรมศาสตร์  สัปดาห์นี้มีวันสำคัญ 1 วัน คือวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงได้ถวายพระสมัญญานามว่า "ปิยมหาราช" ซึ่งหมายถึง พระราชาอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชน

ในบรรดาผลงานอันเกิดจากพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่สมควรนำมากล่าวไว้เนื่องจากสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน คือ การที่ทรงริเริ่มกิจการรถไฟไทย ซึ่งในสมัยนั้นนับว่าล้ำสมัยมากในเอเชีย  พระองค์ท่านได้มีพระราชดำริให้ก่อสร้างรางรถไฟ  ที่มีขนาดความกว้างราง 1,435 mm (Standard gauge) ซึ่งสามารถรองรับขบวนรถไฟสมัยใหม่ที่มีความเร็วสูงขึ้น และกำลังเป็นที่นิยมในยุโรปในขณะนั้น  (ประมาณ 60% ของทั้งโลก) 

อย่างไรก็ดี การพัฒนากิจการรถไฟในประเทศไทยมักได้รับผลกระทบจากสภาพการเมืองการปกครองในแต่ละยุคเสมอ รวมทั้งขนาดรางรถไฟด้วย ซึ่งสาเหตุที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงเลือกรางขนาด Standard gauge ก็เป็นแนวพระบรมราโชบายที่จะหลบเลี่ยงการคุกคามจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งบังคับให้มลายูและพม่าสร้างรางรถไฟขนาด Meter gauge (ความกว้างราง 1 m) เมื่อถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยก็ถูกบังคับให้สร้างรางรถไฟและเปลี่ยนขนาดรางที่มีอยู่เป็น Meter gauge ทั้งหมดเพื่อให้สามารถเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ใช้ขนส่งทหารและยุทโธปกรณ์ได้สะดวก รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่ถูกกว่า

มาในยุค Thailand 4.0 นี้ รถไฟความเร็วสูงนับเป็นกลยุทธ์สำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาการขนส่งให้รองรับการลงทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้พยายามสร้างความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ในปัจจุบันได้มี Research Unit ที่มุ่งวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับระบบราง และได้มีการส่งนักเรียนทุนไปศึกษาในเรื่องดังกล่าวครับ

สำหรับในสัปดาห์นี้มีเรื่องสำคัญที่อยากบันทึกเผยแพร่ไว้ ดังนี้ครับ

ความคืบหน้าในการจัดทำหลักสูตร ทล.บ. พันธุ์ใหม่

เพื่อดำเนินการยกร่างหลักสูตร ทล.บ. พันธุ์ใหม่ให้เป็นหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง จึงได้ทาบทามคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการยกร่างหลักสูตรฯ ได้แก่ อ. ชาญชัย (อุตฯ) ผศ. ดร. ภัคพงศ์ (เครื่องกล) อ. สุรชาติ (ไฟฟ้า) และ ผศ. ดร. ทิพย์สุรีย์ (สิ่งแวดล้อม) ซึ่งคณะกรรมการจะได้ทำการศึกษาความต้องการของตลาด ผู้ใช้บัณฑิต ผู้เรียน เพื่อนำข้อมูลมากจัดทำผลการเรียนรู้ และออกแบบหลักสูตรต่อไป

ในเบื้องต้นจะได้นำเสนอแนวคิดของหลักสูตรนี้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรรูปแบบใหม่ที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดขึ้นในวันที่ 16-17 พ.ย. 61 นี้ครับ

ในกระบวนการออกแบบหลักสูตรนี้ จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน รวมทั้งจากคณาจารย์ภายในคณะด้วยครับ  ในขณะนี้ หากคณาจารย์มีข้อคิดเห็นสามารถเสนอได้ที่รองคณบดีฝ่ายวิชาการ (ดร. ภาณุวัฒน์) เลยนะครับ

การจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์ที่ 4 (เป้า 4) สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ

ขณะนี้คณะฯ อยู่ในระหว่างการจัดทำข้อเสนอเพื่อขอรับงบประมาณผ่าน วช. ในยุทธศาสตร์ที่ 4 (เป้าหมายที่ 4): การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ

การเสนองบเป้า 4 นี้เป็นการเสนอโดยส่วนงาน โดยให้แต่ละภาควิชารวบรวมและจัดทำข้อเสนอส่งที่คณะภายในวันที่ 30 ต.ค. ก่อน 8.30 น. เพื่อนำเข้าพิจารณาในการประชุม Top Management ในวันเดียวกันเพื่อสรุปเป็นข้อเสนอของคณะ

สำหรับภาพรวมในปีนี้ คณะฯ จะเสนองบประมาณสำหรับการจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อการวิจัย และการปรับปรุง Co-Working Space เพิ่มเติม สำหรับให้บริการแก่นิสิตและคณาจารย์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม

พื้นที่สำหรับสร้าง Co-Working Space สำหรับงานสร้างนวัตกรรม

ตามที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้รับครุภัณฑ์ เครื่องตัดแบบเลเซอร์ (Laser cutters) และครุภัณฑ์อื่น ๆ จาก สวทช. สำหรับการสร้าง Co-Working Space ให้นิสิตและคณาจารย์ รวมทั้งบุคคลทั่วไปมาใช้บริการในการสร้างต้นแบบนวัตกรรม  ที่ประชุม TM ได้ให้ความเห็นชอบในการใช้พื้นที่โรงประลองของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นพื้่นที่สำหรับการจัด Co-Working Space ดังกล่าว 


โดยจะมีการให้บริการเครื่องมือสำหรับการสร้างต้นแบบฯ ได้แก่ เครื่อง Laser Cutters ขนาดต่าง ๆ 3D Printers, CNC รวมทั้งเครื่องมือช่างพื้นฐาน  โดยในอนาคต Co-Working Space นี้จะอยู่ในความดูแลของ IC หนึ่ง (เช่น ICRA - Interdisciplinary Centre for Robotics and Automations) ขณะนี้ได้มอบหมายให้ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลยกร่างระเบียบการเข้าใช้และอัตราค่าบริการให้สะดวกแก่ผู้ประสงค์ใช้งานมากที่สุด  คาดว่าน่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเร็ว ๆ นี้ครับ

กรรมการสมทบในคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์

มหาวิทยาลัยได้ร้องขอให้คณะฯ ส่งข้อมูลคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยฯ หรือเสนอผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมการฯ ของมหาวิทยาลัย จำนวน 2 คน เพื่อพิจาณาข้อเสนอโครงการวิจัยที่อาจมีผลกระทบต่อสุขพลานมัย ความปลอดภัย และจิตใจของผู้เกี่ยวข้องกับการวิจัยนั้น ๆ

เนื่องจากจำนวนโครงการวิจัยของนิสิตในคณะฯ มีไม่มาก จึงไม่ได้ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมฯ ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ คณะฯ จึงเลือกส่งกรรมการสมทบ 2 ท่านแทน และได้เปิดรับสมัครผู้สนใจเป็นคณะกรรมการจริยธรรมวิจัย โปรดแจ้งแก่หัวหน้าภาควิชานะครับ

การทบทวนโครงสร้างของคณะกรรมการพัฒนานิสิตและศิษย์เก่าสัมพันธ์

ภาควิชาวิศวกรรมโยธา เสนอให้พิจารณาทบทวนโครงสร้างของคณะกรรมการพัฒนานิสิตฯ จากเดิมแต่งตั้งจากผู้แทนฝ่ายพัฒนานิสิตของภาควิชาจำนวน 1 คนเป็นกรรมการ เป็น 1-2 คน เนื่องจากเห็นว่ามีภาระงานในส่วนของศิษย์เก่าสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้น

ที่ประชุม TM พิจารณาแล้วเห็นชอบให้ปรับโครงสร้างตามที่เสนอ โดยแต่ละภาควิชาสามารถเสนอแต่งตั้งกรรมการได้ 1-2 คน โดยให้แบ่งสัดส่วนภาระงานต่อปีกันตามความเหมาะสม (รวมไม่เกิน 200 ชั่วโมงต่อปี)

แนวทางการสรรหาหัวหน้าภาควิชา

ที่ประชุม TM ได้มีการพิจารณาแนวทางในการสรรหาหัวหน้าภาควิชา โดยได้กำหนดหลักการไว้ว่า หัวหน้าภาควิชา ควรเป็นบุคคลที่ผู้ปฏิบัติงานในภาควิชายอมรับ และสามารถบริหารงานไปในแนวทางที่สนับสนุนแผนยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาคณะฯ ได้  โดยได้มอบหมายให้รองคณบดีฝ่ายบริหารฯ ไปยกร่างประกาศการสรรหาหัวหน้าภาควิชา ให้สอดคล้องกับประกาศฯ ของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ให้ยึดแนวทาง/ขั้นตอน ดังนี้
  1. ให้ผู้ปฏิบัติงานในภาควิชามีสิทธิเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา
  2. ทาบทามผู้ได้รับการเสนอชื่อ
  3. ผู้ที่ตอบรับ จัดทำแผนปฏิบัติการ/แผนพัฒนาภาควิชาที่สอดคล้องและตอบสนองต่อแผนยุทธศาสตร์และแนวทางการพัมนาคณะ  และนำเสนอต่อประชาคมในภาควิชาและคณะกรรมการบริหารคณะ
  4. ภาควิชาประชุมคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา ลงมติ นับเป็น 1 เสียง
  5. คณะกรรมการบริหารคณะฯ พิจารณาคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา ลงมติ นับเป็น 1 เสียง
  6. กรณีที่มติตามข้อ 4 และ 5 แตกต่างกัน ให้คณบดีเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด
แนวทางดังกล่าวนี้ จะได้ใช้กับภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นภาควิชาแรกครับ

การจัดทำรายวิชาศึกษาทั่วไป

มหาวิทยาลัยกำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างรายวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งในรอบนี้ คณะกรรมการบริหารวิชาการ ได้มีมติให้นำรายวิชาศึกษาทั่วไปมาบริหารจัดการตรงกลาง  โดยอาจจะตั้งเป็นสำนัก/สถาบันศึกษาทั่วไป หรือบริหารในรูปคณะกรรมการ

แนวทางสำหรับการจัดรายวิชาศึกษาทั่วไปในรอบใหม่นี้ จะแบ่งรายวิชาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
  1. กลุ่มวิชาพลเมืองไทย และพลเมืองโลก
  2. กลุ่มเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิต
  3. กลุ่มเสริมสร้างสมรรถนะการทำงาน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นและกำหนดผลการเรียนรู้ (LOs) สำหรับกลุ่มวิชาต่าง ๆ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย

พิธีไหว้ครูคณะวิศวกรรมศาสตร์

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 25 ตุลาคม สโมสรนิสิตและฝ่ายพัฒนานิสิตได้ร่วมกันจัดพิธีไหว้ครูคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา พ.ศ. 2561 ขึ้น เพื่อให้นิสิตชั้นปีที่ 1 ได้ทำพิธีมอบตัวเป็นศิษย์และรับพรจากคณาจารย์  โดยในพิธีนี้ ได้รับเกียรติจากนายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมมอบทุนการศึกษาแก่นิสิตด้วย

ดร. ปิติ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประเภท ผู้แทนสมาชิก


ตามที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ลงคะแนนเสียง คัดเลือก ดร. ปิติฯ รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาองค์การ เป็นผู้แทนไปรับคัดเลือกเป็นกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประเภทผู้แทนสมาชิก นั้น ผลการคัดเลือกกันเองปรากฏว่า ดร. ปิติฯ ได้รับการคัดเลือกเป้นกรรมการกองทุนฯ ดังกล่าวครับ

ขอแสดงความยินดีและขอบคุณ ดร. ปิติ มา ณ โอกาสนี้ เพื่อที่จะช่วยเป็นปากเป็นเสียงแก่บุคลากร และร่วมบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนฯ สำคัญต่อระบบสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเราครับ

Sunday, 21 October 2018

Week 4 หลักสูตร ทล.บ. พันธุ์ใหม่ ทุน EECi การเสนองบเป้า 4

สวัสดีครับ   สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ 4 หรือครบหนึ่งเดือนของการเข้ามาบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์พอดีครับ ในสัปดาห์นี้มีงานสำคัญที่อยากจะบันทึกเผยแพร่ให้บุคลากรในคณะทราบ ดังนี้นะครับ

หลักสูตร ทล.บ. พันธุ์ใหม่


ในการประชุม Top Management เมื่อวันอังคารที่ 16 ต.ค. 61 ได้มีการหารือเรื่องแนวทางในการจัดทำหลักสูตร ทล.บ. พันธุ์ใหม่ ซึ่งจะเป็นหลักสูตรที่จะตอบสนองต่อความต้องการในการเพิ่มกำลังคนใน EEC โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังคนในสายการผลิตในอุตสาหกรรมส่งเสริมทั้ง 10 อุตสาหกรรม  โดยหลักสูตรนี้ จะเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่มีวุฒิ ปวส. (ไม่ต้องเทียบโอน) และทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว มาเรียนต่อยอดในระบบ Modular และอาจมีการใช้เทคโนโลยีเช่น MOOCs (Massive Open Online Courses) มาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียน  ที่ประชุมได้มอบหมายให้รองฯ วิชาการ ตั้งคณะทำงาน/คณะกรรมการเพื่อศึกษาและยกร่างหลักสูตรดังกล่าว และจัดทำโครงร่างของหลักสูตรเพื่อนำเสนอในการประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรบูรณาการ ที่มหาวิทยาลัยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 พ.ย. 61 นี้ครับ

คณะวิศวะได้รับการจัดสรรทุนกระทรวงวิทย์ฯ เพื่อสนับสนุน EECi จำนวน 9 ทุน

images/EECi-Ecosystem
ในปีงบประมาณ 2562 นี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้รับจัดสรรทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อสนับสนุน EECi จำนวนทั้งสิ้น 9 ทุน ซึ่งนับว่ามากที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมหาวิทยาลัยบูรพาได้รับการจัดสรรทุนทั้งสิ้น 10 ทุน (อีกทุนหนึ่งจัดสรรให้คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์) โดยทุนนี้เป็นทุนสำหรับการพัฒนาบุคคลภายนอกไปศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ณ ต่างประเทศในสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนา EECi เมื่อจบแล้วจะกลับมาบรรจุเป็นคณาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และมีข้อผูกพันที่จะต้องทำงานร่วมกับ EECi ที่วังจันทร์วัลเลย์  สำหรับสาขาที่ได้รับการจัดสรรมีดังนี้ครับ

  • ทุน 1-2  สาขา วิศวกรรมชีวภาพ
  • ทุน 3 สาขา วิศวกรรมอุตสาหการ Factory Automation
  • ทุน 4-5 สาขา วิศวกรรมไฟฟ้า Battery System with Fast Charging/Machine Learning
  • ทุน 6 สาขา วิศวกรรมเครื่องกล เน้น AI Robotics
  • ทุน 7 สาขา วิศวกรรมไฟฟ้า เน้น Advance Dynamic Control in Aerospace
  • ทุน 8 สาขา วิศวกรรมเครื่องกล เน้น Navigation and Control in Aerospace
  • ทุน 9 สาขา วิศวกรรมวัสดุ เน้น Composite/Polymer

การเสนอของบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เป้าหมายที่ 4

ขณะนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่ในระหว่างการเตรียมข้อเสนอเพื่อของบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์ฯ เป้าหมายที่ 4 (เป้า 4): การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยได้มอบหมายให้ภาควิชา และศูนย์สอบเทียบและหลักสูตรจัดทำข้อเสนอ และนำมาพิจารณาในการประชุม Top Management ครั้งต่อไป บุคลากรที่สนใจเสนอโครงการเพื่อของบประมาณ โปรดติดต่อหัวหน้าภาควิชานะครับ

กำหนดการประชุมคณะกรรมการประจำคณะ และการเยี่ยมพบปะบุคลากร ณ ภาควิชาต่าง ๆ

คณะกรรมการประจำคณะ

กำหนดการประชุมคณะกรรมการประจำคณะ นัดแรก ในวันที่ 9 พ.ย. 61 เวลา 13.30 น. โดยมีวาระที่สำคัญ ดังนี้
  1. การพิจารณารายชื่อผู้สมควรเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ที่คณะกรรมการประจำคณะพิจารณาจากรายชื่อที่ประชาคมเสนอชื่อ และคัดเลือกให้เหลือไม่เกิน 3 คน
  2. การแถลงสภาวการณ์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์และเสนอแนวทางในการบริหารงานคณะ

การประชุมใหญ่บุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์

กำหนดประชุมใหญ่บุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในวันที่ 15 พ.ย. 61 เวลา 13.30 น. ณ ห้อง M801 เพื่อชี้แจงแนวทางในการบริหารคณะและรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาคม โดยมีประเด็นสำคัญที่จะชี้แจงและหารือในการประชุม ดังนี้
  1. สภาวการณ์ บริบท และความท้าทายของคณะ
  2. แถลงนโยบายและแนวทางการบริหารคณะ
  3. แนะนำทีมบริหารและชี้แจงหน้าที่และความรับผิดชอบ
  4. แผนปฏิบัติการไตรมาสแรก เป้าหมาย และการกำกับผลงาน
  5. รับฟังความคิดเห็นของประชาคม

การพบปะบุคลากรและเยี่ยมชมภาควิชาต่าง ๆ

เพื่อให้ฝ่ายบริหารได้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อสภาวการณ์และความต้องการของบุคลากรในหน่วนงานต่าง ๆ จึงกำหนดให้มีการไปเยี่ยมชมและพบปะบุคลากร ณ ภาควิชา ตามวัน/เวลา ต่อไปนี้ครับ
  1. ภาควิชาวิศวกรรมเคมี วันที่ 19 พ.ย. 61 เวลา 13:30 - 16:00 น.
  2. ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล อยู่ระหว่างการกำหนดวัน/เวลา
  3. ภาควิชาวิศวกรรมโยธา วันที่ 26 พ.ย. 61 เวลา 13:30 - 16:00 น.
  4. ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วันที่ 29 พ.ย. 61 เวลา 13:30 - 16:00 น.
  5. ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ อยู่ระหว่างการกำหนดวัน/เวลา

ค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ภาคตะวันออก (e-Camp)



ค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ภาคตะวันออก (e-Camp) ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 17 -21 ตุลาคม 2561

ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
จัดค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ภาคตะวันออก (e-Camp) ประจำปี 2561

โครงการค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์เป็นโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  โดยมหาวิทยาลัยบูรพา  ให้การสนับสนุนในด้านสถานที่ดำเนินกิจกรรมในช่วงปิดภาคเรียนเดือนตุลาคม 2561 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนได้มีโอกาสพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และนำความรู้ที่ได้รับจากเข้าค่ายฯ ทำการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อประยุกต์ใช้งานต่างๆด้วยตนเอง และยังเป็นการพัฒนาความรู้สู่การเป็นนักวิจัยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ต่อไป

โดยมีการคัดเลือกตัวแทนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-3 จากโรงเรียนมัธยมใน 4 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด โดยปีนี้มีนักเรียนเข้าร่วม 49 คน จากโรงเรียนทั้งหมด 10 โรงเรียน

ความร่วมมือเพื่อขยายผลโครงการวิจัย Smart Living ไปสู่การนำไปลงทุนในเชิงพาณิชย์



เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 61 รศ. วิรุฬห์ ศรีบริรักษ์ พร้อมด้วยผู้บริหารของ AIS, VAMSTAC, PointIT และ STARS Microelectronics ได้เข้าหารือแนวทางในการผลักดันโครงการวิจัย Smart Living ของกลุ่มวิจัย Embedded System ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี Smart Living for Eldery Care และได้ทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลทั่วไปเทศ ไปสู่การลงทุนเพื่อขยายผลบริการไปทั่วประเทศ ด้วยความร่วมมือกับ สพฉ. และ DEPA

นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นและโอกาสอันดีในการวางระบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ (Translational Research)

ความร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 9 และคลัสเตอร์ยานยนต์



ในวันที่ 18 ต.ค. 61 ได้มีการหารือความร่วมมือกับคลัสเตอร์ยานยนต์ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 9 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการพัฒนา EV Charging Station โดยมี ผศ.​ ดร. โชคชัย ชื่นวัฒนาประณิธิ จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลเข้าร่วมหารือ

โดยได้มีการตกลงร่วมพัฒนา EV Charging Station ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากคลัสเตอร์ และจะมีการลงนามใน MOU ความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศูนย์อุตสาหกรรมภาค 9 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ คลัสเตอร์ยานยนต์ เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นทางการต่อไป

ผลการพิจารณาแผนบูรณาการ รอบ Concept Proposal ปีงบประมาณ 2563

ขอแสดงความยินดีกับคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ผ่านการพิจารณาแผนบูรณาการ (เป้า 1, 2) ประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งในปีนี้มหาวิทยาลัยบูรพาเสนอแผนบูรณาการฯ ไปทั้งสิ้น 52 แผน ผ่านการพิจารณาในรอบนี้ 21 แผน อัตราการผ่าน ~40%

คณะจะได้ดำเนินการถอดบทเรียน และจัดทำเป็นแนวทางในการเพิ่มอัตราการผ่านการพิจารณาต่อไปนะครับ

รายละเอียดผลการพิจารณา ดาวน์โหลดได้ ที่นี่ ครับ



Monday, 15 October 2018

Week 3: การออกแบบกลไกขับเคลื่อนการบริหาร คณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ

สวัสดีครับ สำหรับสัปดาห์ที่ 3 ของทีมบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มี ผศ. ดร. ณยศ คุรุกิจโกศล (อ. ปิ๊ก) นำทีมในฐานะคณบดี ได้มีเรื่องสำคัญ ๆ ที่จะได้บันทึกเผยแพร่ไว้ ดังนี้ครับ

การคัดเลือกธนาคารเพื่อให้บริการบัตรนิสิตอิเล็กทรอนิกส์

เรื่องนี้ไม่ใช่ภารกิจโดยตรงในฐานะคณบดี แต่ผมได้ร่วมเป็นคณะทำงานในการคัดเลือกธนาคารเพื่อเข้ามาให้บริการจัดทำบัตรนิสิตอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเพิ่มประสบการณ์การเข้าสู่สังคมดิจิทัลให้แก่นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา  โดยธนาคารที่ได้รับคัดเลือกจะมาให้บริการบัตรนิสิตในลักษณะบัตร ATM ที่สามารถใช้แทนเงินสดในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย (Cashless Society) อีกไม่นาน โรงอาหารวิศวะอาจสามารถรับเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้ครับ

นอกจากนั้นธนาคารยังจะนำระบบ Smart ต่าง ๆ มาให้บริการ เช่น ระบบ Access Control สำหรับการเข้าใช้บริการหอพัก และ ห้องสมุด การเช็คชื่อเข้าชั้นเรียน ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ระหว่างการคัดเลือกและเจรจากับธนาคารพบปัญหาอุปสรรคบ้าง คาดว่าจะสามารถคัดเลือกธนาคารมาให้บริการได้ในเร็ว ๆ นี้ครับ

ประเด็นสำคัญจากการประชุมทีมบริหาร Top Management

ในการประชุมประจำสัปดาห์ Top Management (TM) เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ซึ่งทีม Top Management ประกอบด้วย คณบดี รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา และหัวหน้าสำนักงานคณบดี มีประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้ครับ
  1. การวิเคราะห์จำนวน/คุณสมบัติของอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน  รวมทั้งการวิเคราะห์ศักยภาพของหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มอบรองคณบดีฝ่ายวิชาการวิเคราะห์ข้อมูลมาเสนอเพื่อพิจารณาต่อไป
  2. การเตรียมการสำหรับการออกแบบหลักสูตร ทล.บ. พันธุ์ใหม่ หลักสูตรต่อเนื่อง ร่วมมือกับอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของ EEC เน้นรับผู้เรียนจากกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. และมีงานทำอยู่ในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว จัดการเรียนรู้แบบ Modular เน้นพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับทำงานโดยตรง  เลือกเรียนแบบ Non-degrees ได้ และอาจมีการใช้เทคโนโลยี MOOCs เข้ามาช่วยเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียน/ทดสอบ Online ด้วยตนเองระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และมาเข้ากลุ่มปฏิบัติในวันเสาร์หรืออาทิตย์  โดยในสัปดาห์นี้คณบดีและรองฯ วิชาการได้เข้าพบหารือกับ ผศ. ดร. วิมลรัตน์ จตุรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเพื่อหารือในเรื่องนี้
  3. แนวทางในการจัดตั้งศูนย์พหุวิทยาการ (Interdisciplinary Centres) เพื่อเป็นหน่วยงานที่ดูแลพันธกิจวิจัยและบริการวิชาการของคณะ เป็นหน่วยที่ทำหน้าที่รับและแสวงหาโอกาสความร่วมมือเกี่ยวกับการวิจัย/บริการวิชาการต่าง ๆ โดยมอบให้รองฯ วิจัย เป็นผู้จัดเตรียมแนวทางในเรื่องนี้
  4. การพัฒนาระบบองค์การอัจฉริยะ โดยการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าใช้ในการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นระบบอัตโนมัติ ลดเวลาในการทำงาน และลดขั้นตอน
  5. การกำหนดวิธีการสื่อสารอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ สำหรับการสื่อสารภายในองค์การ โดยมอบ รองฯ บริหาร เป็นผู้ยกร่างประกาศคณะวิศวกรรมศาสตร์ เรื่อง การวางระบบการสื่อสารภายในองค์การ
  6. การจัดทำรายงานวิเคราะห์สถานะทางการเงิน รายรับจริง รายจ่ายจริง เงินสะสม สำหรับรายงานให้แก่กรรมการประจำคณะ/ประชาคมทราบ มอบรองฯ ยุทธศาสตร์
  7. ระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เนื่องจากเริ่มปีงบประมาณใหม่ไปแล้ว มีความเห็นว่าสมควรใช้ระบบ KPI ในการประเมินผลการปฏิบัติงานไปก่อน และทำการยกร่างแนวทางการประเมินผลตามระบบ OKRs ในระยะเวลา 1 ปีเพื่อให้สามารถใช้ได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อย่างไรก็ดี สมควรให้มีการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินตามระบบ KPI ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น มอบรองฯ ยุทธศาตร์ ดำเนินการในเรื่องนี้
  8. แนวทางในการโอนหลักสูตรสังกัดสำนักงานจัดการศึกษาไปสังกัดภาควิชา เพื่อลด Overhead และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร มอบหัวหน้าภาควิชาไปปรึกษาหารือและนำเสนอความคิดเห็นในการประชุมครั้งต่อไป

คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในคณะวิศวกรรมศาสตร์

ที่ประชุม Top Management (TM) ได้หารือถึงโครงสร้างของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งผมได้เสนอให้แบ่งชั้นของคณะกรรมการออกเป็น 3 ชั้น คือ 

ชั้นที่ 1 Policy Body 

ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย วางแผนและอนุมัติแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ รวมทั้งรับรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะ  โดยกรรมการในชั้นนี้มีชุดเดียว คือ คณะกรรมการประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีการกำหนดหน้าที่และอำนาจไว้ในข้อบังคับ  คณะกรรมการประกอบด้วย คณบดี (ประธาน) รองคณบดี หัวหน้าภาควิชา ไม่เกิน 5 คน (ปัจจุบันมี 4 คน ได้ประชุมเลือกกันเองแล้วเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ทั้ง 4 คนได้แก่หัวหน้าภาค IE ME ChE และ CE เป็นกรรมการประจำคณะ คงเหลือที่ว่างอีก 1 ที่) ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกคณะ 5 คน และผู้แทนคณาจารย์​ 3 คน

ชั้นที่ 2 Governing Body

ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบ กลั่นกรองและเสนอความคิดเห็นแก่คณบดีและคณะกรรมการประจำคณะ ประกอบด้วย
1. คณะกรรมการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์
โครงสร้าง
  1. คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประธานกรรมการ
  2. รองคณบดีทุกคน กรรมการ
  3. หัวหน้าภาควิชา 5 ภาควิชา กรรมการ
  4. ผู้แทนคณาจารย์ในกรรมการประจำคณะ กรรมการ
  5. รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาองค์การ กรรมการและเลขานุการ
  6. หัวหน้าสำนักงานคณบดี กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  7. ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายไม่เกิน 2 คน ผู้ช่วยเลขานุการ
หน้าที่

  1. พิจารณากลั่นกรองแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ และแผนกลยุทธ์การเงิน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการประจำคณะให้ความเห็นชอบ รวมทั้งการพิจารณารายงานผลการดำเนินงานตามแผนข้างต้น และจัดทำข้อเสนอเพื่อพิจารณาให้แก่คณะกรรมการประจำคณะ
  2. พิจารณากลั่นกรองประกาศต่างๆ 
  3. พิจารณากลั่นกรองและรับรองให้ดำเนินการไปก่อนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานทั่วไป การบริหารหลักสูตร การพัฒนานิสิต การวิจัย การบริการวิชาการและนวัตกรรม และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม เฉพาะในส่วนที่เป็นภาระงานประจำ แล้วจึงรายงานและเสนอเพื่อพิจารณาทักท้วงในการประชุมคณะกรรมการประจำคณะ
  4. หน้าที่อื่น ๆ ที่คณบดีหรือคณะกรรมการประจำคณะมอบหมาย
2. คณะกรรมการบริหารวิชาการ
โครงสร้าง
  1. คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประธานกรรมการ
  2. รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต กรรมการ
  3. ประธานหลักสูตรทุกหลักสูตร กรรมการ
  4. รองคณบดีฝ่ายวิชาการ กรรมการและเลขานุการ
  5. ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายไม่เกิน 2 คน ผู้ช่วยเลขานุการ
หน้าที่
  1. วางแผนการพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งกำกับ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะกรรมการประจำคณะฯ ทราบ
  2. วางระบบการบริหารหลักสูตรให้เป็นไปตามมาตรฐาน  รวมทั้งกำกับ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะกรรมการประจำคณะฯ ทราบ
  3. วางแผนการผลิตบัณฑิต การรับเข้า รวมทั้งกำกับ ติดตาม การคงอยู่ของผู้เรียน การสำเร็จการศึกษา และจัดทำรายงานที่เกี่ยวข้อง
  4. ออกแบบ และบริหารระบบบริการทางการศึกษา เช่น ระบบการให้บริการเกี่ยวกับการทะเบียนกลาง ระบบการจัดสอบ และระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  5. วางระบบการประเมินสมรรถนะของผู้เรียนในช่วงชั้นต่างๆ รวมทั้งการประเมินสมรรถนะของบัณฑิ
  6. หน้าที่อื่นๆ ตามที่คณบดี คณะกรรมการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือคณะกรรมการประจำคณะมอบหมาย
3. คณะกรรมการบริหารการวิจัย บริการวิชาการ และนวัตกรรม
โครงสร้าง
  1. คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประธานกรรมการ
  2. คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งคณะกรรมการบริหารฯ เสนอ จำนวนไม่เกิน 7 คน กรรมการ
  3. ผู้แทนนักวิจัยซึ่งคณาจารย์เลือกกันเอง จำนวน 5 คน กรรมการ
  4. รองคณบดีฝ่ายวิจัย บริการวิชาการ และนวัตกรรม กรรมการและเลขานุการ
  5. ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายไม่เกิน 2 คน ผู้ช่วยเลขานุการ
หน้าที่
  1. วางแผนพัฒนาการวิจัย บริการวิชาการ และนวัตกรรม กำกับ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะกรรมการประจำคณะทราบ
  2. วางระบบการบริหารและสนับสนุนการวิจัย บริการวิชาการ และนวัตกรรม การจัดตั้งศูนย์พหุวิทยาการ การพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งการยกร่างและปรับปรุงประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
  3. ให้ความเห็นชอบผลการพิจารณาทุนสนับสนุนการวิจัย บริการวิชาการ และนวัตกรรม รายงานความก้าวหน้า และการขอขยายทุน
  4. หน้าที่อื่นๆ ตามที่คณบดี คณะกรรมการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือคณะกรรมการประจำคณะมอบหมาย
4. คณะกรรมการพัฒนานิสิตและศิษย์เก่าสัมพันธ์
โครงสร้าง
  1. นายกสมาคมศิษย์เก่า หรือผู้แทน ที่ปรึกษา
  2. คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประธานกรรมการ
  3. คณาจารย์ซึ่งคณะกรรมการบริหารฯ เสนอ ภาควิชาฯ ละ 1 คน กรรมการ
  4. นายกสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ กรรมการ
  5. รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต กรรมการและเลขานุการ
  6. ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายไม่เกิน 3 คน ผู้ช่วยเลขานุการ
หน้าที่
  1. วางแผนการพัฒนานิสิต กำกับ ติดตามและรายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะกรรมการประจำคณะทราบ
  2. พัฒนาระบบการฝึกงานและสหกิจศึกษา รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์สหกิจศึกษา 
  3. วางระบบศิษย์เก่าสัมพันธ์ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์​ กำกับ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะกรรมการประจำคณะทราบ
  4. หน้าที่อื่นๆ ตามที่คณบดี คณะกรรมการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือคณะกรรมการประจำคณะมอบหมาย

ชั้นที่ 3 Management Body

ทำหน้าที่ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เป็นงานระยะสั้นและงานระยะยาว จัดตั้งขึ้นตามความจำเป็น เช่น คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการจัดการความรู้ ฯลฯ

ทั้งนี้จะเห็นว่ากรรมการในชุดต่าง ๆ ไม่เน้นการให้ภาควิชาส่งตัวแทนเหมือนเช่นเคย แต่เน้นการสรรหาจากผู้ที่มีความสามารถและความถนัดในแต่ละด้านเป็นสำคัญ ประกอบกับการเน้นการมีส่วนร่วมโดยตรงจากประชาคม


ความร่วมมือทางวิชาการกับ บริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด


ผู้บริหารบริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านการออกแบบและผลิตอุปกรณ์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronics) เช่น Switching Power Supply ได้เข้าหารือความร่วมมือในการรับสมัครงาน การฝึกงานแบบสหกิจศึกษา และความร่วมมือด้านอื่น ๆ ดังนี้
[ขอบคุณ อ. เต้ รองฯ พัฒนานิสิต สำหรับสรุปหัวข้อที่หารือนะครับ]

สรุปการพูดคุยความร่วมมือกับบริษัท Delta Electronics (Thailand)  เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2561
 1. บริษัท Delta เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะทางด้าน Power Electronics สินค้าเด่นได้แก่ Switching Power supply ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่ไต้หวัน มีสินค้าและบริกาคดังนี้
  ○ Power Electronics
   § กลุ่ม Switching power supply
   §  Fans and Thermal Management
   § Electronics Component
  ○ Energy Management
   § Automation
   § ระบบไฟฟ้าคมนาคม
   § Data center
   § EV เน้น ตัวควบคุมทางไฟฟ้าของรถ และสถานีชาร์จ
   § พลังงานหุนเวียน
  ○ Smart green life
 โดยอยู่ในกลุ่ม boi และบริษัทมีแผนก Research and Development   ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู และที่ เวลโกร์

 2. มีแผนขยายโรงงานในปีหน้า จึงขอมาประชาสัมพันธ์บริษัทให้นิสิตทราบ
  a. แผนรับสมัครงานตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องกล และสมองกลฝัวตัว 100 คน
  b. แผนรับนิสิตฝึกงาน ทั้งภาคฤดูร้อนและสหกิจ
  c. การให้ทุนการศึกษา 2 แบบ คือ
   § ทุนให้เปล่า 20,000 บาท
   § ทุนผูกมัด 100,000 บาท โดยจะต้องทำงานกับบริษัท 1 ปี
  ทั้ง 2 ทุนนี้จะต้องมีการทำ Project ร่วมกับบริษัท (เน้นรับปี 4)

 3. กิจกรรม Delta Career Day และ Delta Introduced Campus มาแนะนำบริษัทและเปิดรับสมัครงาน/สัมภาษณ์ที่สถานศึกษา
  ○ เพื่อให้สอดคลัอง การเปิด/ปิดภาคการเรียนใหม่ ทางคณะจะทำ Timeline ที่เหมาะสมในการเข้ามาแนะนำและเปิดรับสมัครงานของแต่ละบริษัทที่เรียกว่า Job Hunting ซึ่งเป็นซีรีย์กิจกรรมสำหรับนิสิตปี 4 ในการเตรียมพร้อมสำหรับการสมัครงาน
  ○ ในเบื้องต้นช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ช่วงเดือน พฤศจิกายน

 4. กิจกรรม Visit Campany  เป็นการพานิสิตและคณาจารย์ไปเยี่ยมชมโรงงาน ที่นิคมบางปู สามารถรองรับได้ 100 คน ซึ่งจะไปเยี่ยมชมในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
  ○ สำหรับกลุ่มเป้าหมายคือ นิสิตปี 4 หรือชั้นปีต่างๆ ที่สนใจ โดยมีสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า (power electronics) วิศวกรรมสมองกลฝังตัว วิศวกรรมเครื่องกล
  ○ ซึ่งในการเยี่ยมครั้งนี้โดยส่วนใหญ่เป็นนิสิตภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล จึงมอบให้หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นผู้ประสานงานวันที่แน่นอน
  ○ ส่วนภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า อาจจะให้อ.โชคชัย ประชาสัมพันธ์นิสิตที่สนใจ
  ○ ทีมผู้บริหารไปร่วมเยี่ยมชมด้วย

 5. Partner ทางด้านการฝึกงานสหกิจ
  ○ สามารถรับได้ประมาณ 20 คน
  ○ ทางคณะเสนออาจจะส่งอาจารย์ไปทำวิจัยที่บริษัทด้วย
  ○ การฝึกงานส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบ 2+4 เดือน (ฤดูร้อน 2 เดือน สหกิจ 4 เดือน)
  ○ ทางบริษัทมีประเด็นเรื่องความต่อเนื่องจาก project ที่ทำร่วมกัน เนี่องจากนิสิตสิ้นสุดการฝึกสหกิจและต้องกลับไปเรียนในภาคเรียนที่เหลือ
  ○ ทางคณะจึงเสนอแนวทาง โดยอาจให้ทำเป็น project ต่อเนื่องในวิชา project 2 นิสิตสามารถกลับไปทำ project ที่บริษัทได้ ถ้ามีข้อมูลลับ อาจจะจัดการสอบ project ที่บริษัทได้

 6. ความร่วมมือทางหลักสูตรพันธุ์ใหม่
  ○ คณะแนะนำหลักสูตร ทล.บ. เน้นคนทำงาน เป็นเรียนแบบเก็บชั่วโมงครบได้ใบประกาศ โดยเป็นรูปแบบออนไลน์ จ. -ศ. ผ่านแล้วต้องมาทำ workshop ส.-อา ซึ่งตรงกับความต้องการของบริษัทที่มีการส่งพนักงานอบรมหรือเรียนเพื่อปรับวุฒิอยู่แล้ว
  ○ บริษัทมีความสนใจ อาจจะส่งพนักงานมาเรียนเฉพาะด้าน โดยขอกลับไปปรึกษากับหัวหน้าวิศวกรกับ HR สำหรับหัวข้อการเรียนรู้ที่ต้องการ

 7.   ความต้องการบัณฑิตของบริษัท
  ○ ตรงสาขาวิชาที่เปิดรับ
  ○ การใช้ software เฉพาะทางได้ เช่น MATLAB, PCL, Labview, Prometheus PCB,  ภาษา C++ Python
  ○ สื่อสารภาษาจีนได้ จะพิจารณาเป็นพิเศษ
  ○ ขึ้นอยู่แผนก บริษัทจะสอบถามให้อีกที
  ○ นอกจากนี้บริษัทยังต้องการเจ้าหน้าที่งานทั่วไปที่ใช้ภาษาจีนได้ ทางด้านมนุษยศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ เอกภาษาจีน

 8. ตอนนี้บริษัทเน้นทางด้าน Embedded System ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของหลักสูตร Embedded System ที่จะมีความร่วมมือกันในอนาคต

 9. บริษัทยินดีมาเข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวและชี้แจงการฝึกงานสำหรับนิสิตปีที่ 3 ในวันพฤหัสที่ 18 ต.ค. 2561 ณ ห้องประชุม 1 ตึก M คณะวิศวกรรมศาสตร์


Sunday, 7 October 2018

Week 2: การวางระบบบริหารและ การ Reestablish ความร่วมมือกับ EEC

1. การประชุมทีมบริหาร

เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ต.ค. 61 เป็นวันแรกที่ได้ร่วมประชุมทีมบริหารซึ่งประกอบไปด้วยรองคณบดีทุกฝ่ายและหัวหน้าสำนักงานคณบดี  โดยในการประชุมนัดแรกนี้เป็นการ Orientation ทีมบริหารในเรื่องการทำงานร่วมกัน การมอบหมายงาน และการมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ


โดยในสมัยของผมนี้ ผมเรียกทีมบริหารว่าทีม Top Management ของคณะ ซึ่งไม่เพียงแต่ประกอบไปด้วยคณบดี และรองคณบดีเท่านั้น ในทีม Top Management ยังมีหัวหน้าภาควิชาและหัวหน้าสำนักงานคณบดีด้วยเป็นทีมเดียวกัน เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีเอกภาพ เน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ผมได้วางและแจ้งสไตล์การทำงานให้แก่ทีมทุกท่านว่าเราจะทำงานกันอย่าง Active and Connected และมีการสื่อสารกันให้มากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย ได้แก่ LINE กลุ่ม Top Management และ Google Team Drive จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน  รวมทั้งเน้นการสื่อสารภายในองค์การ เพื่อให้ประชาคมได้รับทราบแนวทาง ความเคลื่อนไหวของฝ่ายบริหาร และสามารถให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะได้

2. ประเด็นสำคัญจากการประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยจะนัดประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยซึ่งมีหัวหน้าส่วนงาน (คณบดี) เป็นกรรมการทุกวันอังคารแรกของเดือน โดยในเดือนนี้มีเรื่องสำคัญที่จะขอนำมาแจ้งต่อแก่บุคลากรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ดังนี้ครับ

2.1 การทบทวนการเปิด/ปิดภาคเรียน


2.2 การสำรวจความพึงพอใจและความสุขของผู้ปฏิบัติงาน

ขอความร่วมมือชาวคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้วยครับ

2.3  การจัดการสอนรายวิชา eCommerce โดยใช้หลักสูตรของ Alibaba

เป็น Certified Course ที่ใช้ Teaching Materials ของ Alibaba ซึ่งอาจจะเป็นในลักษณะการเป็นรายวิชาศึกษาทั่วไปหรือเป็น Short-course การดำเนินการจะเริ่มจากการจัดทีมคณาจารย์เพื่อไปฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว เพื่อให้สามารถกลับมาสอนในคณะ/มหาวิทยาลัยได้  เรื่องนี้ผมได้มอบให้รองฯ วิชาการไปศึกษาและพิจารณาว่าคณะเราจะเข้าร่วมได้หรือไม่อย่างไรครับ

2.4 คณบดีได้รับมอบหมายให้เป็นคณะกรรมการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

ในการประชุมครั้งนี้ ผมได้รับมอบหมายงานสำคัญอีก 2 เรื่อง และเห็นว่าสมควรแจ้งให้ประชาคมทราบ ดังนี้ครับ
1. การได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการบริหารงานบุคคล (กบบ.) ประเภทผู้แทนหัวหน้าส่วนงาน
2. การได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนคณบดีคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ อีกตำแหน่งหนึ่งเป็นการชั่วคราว ในตำแหน่งนี้ผมจะต้องไปควบคุมดูแลการบริหารงานของคณะภูมิสารสนเทศฯ ด้วย โดยผมได้ไปพบปะหารือแนะนำตัวกับผู้บริหารของคณะภูมิสารสนเทศฯ แล้ว ก็ได้รับการต้อนรับและความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉลี่ยผมจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่นี้ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะพยายามให้ไม่กระทบกับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในฐานะคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ครับ

3. การหารือเพื่อ Reestablish ความร่วมมือกับ EEC

ผู้แทน EEC TOP/HDC และผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์
ผม อ. ก้อง (รองฯ วิชาการ) และ อ. ช้าง (รองฯ วิจัย) ได้ร่วมรับประทานอาหารและหารือเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และ EEC โดยได้รับเกียรติจาก ดร. วัชรินทร์ ศิริพานิช ผู้อำนวยการสถาบัน EEC-TOP และ ดร. พีระพงษ์  สุนทรวิภาต กรรมการ EEC-HDC (Human Resource Development Center) มาร่วมหารือ ผลจากการหารือได้มีการวางแผนร่วมกันในการร่วมมือทางด้านการผลิตทรัพยากรบุคคล/วิจัย/บริการวิชาการให้แก่ EEC ดังนี้

1. หลักสูตรอบรมระยะสั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในอุตสาหกรรม เช่น Automation โดยจะมีความร่วมมือกับ EEC TOP ในการออกใบประกาศจาก EEC เพื่อให้ได้การรับรองมาตราฐาน 
2. การจัดตั้งศูนย์อบรมและรับรองมาตราฐาน (Certified center) ในสาขาที่มีความต้องการพิเศษเช่น การทดสอบโดยไม่ทำลาย (NDT)
3. หลักสูตรทล.บ. พันธ์ใหม่ รองรับคนทำงาน เป็นหลักสูตรแบบ Modular เน้น Outcome และมีการจัดทำ Online Course สำหรับศึกษาด้วยตัวเอง
4. หลักสูตร 2+2 เป็นหลักสูตรต่อเนื่องจากปวส. และต่อ ปริญญาตรี ทำร่วมกับอุตสาหกรรม ในลักษณะเรียนควบคู่กับการทำงาน
5. การพัฒนากำลังพลด้านภาษาแนวใหม่ เน้นการสื่อสารเป็นหลัก
6. การพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับ การทดสอบโดยไม่ทำลาย (NDT) และการแพทย์ครบวงจร เกษตรชีวภาพ เป็นต้น โดยมุ่งเน้นตาม 10 อุตสาหกรรมใหม่ 

ทั้งนี้ฝ่ายบริหารจะได้มีการทำงานร่วมกับ EEC-TOP/HDC อย่างใกล้ชิดเพื่อให้คณะของเราเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์หลักใน EEC ให้ได้ครับ ความคืบหน้าจะนำมาแจ้งให้ทราบเป็นระยะ ๆ นะครับ

4. การหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับหอการค้า จ. ระยอง

อ. ช้าง (รองฯ วิจัย) รายงานการเข้าพบทีมผู้บริหารหอการค้า จ.ระยอง ได้โจทย์มาดังนี้ 

1. พื้นที่จังหวัดระยะจะเน้นภาคการเกษตรและธุรกิจการท่องเที่ยวไปหลัก ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีความพร้อมอยู่แล้ว อาจจะเข้าไปร่วมงานยาก 

2. จึงได้เสนอสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ทาง มหาวิทยาลัยบูรพา ช่วยเหลือคือ 
  • รถเก็บขยะชายหาดขนาดเล็ก 
  • มีปัญหาขาดแคลนแรงงานจำนวนมากในการเก็บผลไม้ จึงอยากได้เครื่องเก็บผลไม้อัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็น มังคุด เงาะ ลำไย หรือทุเรียน
  • เตาเผาทำถ่านจากเปลือกของผลไม้ต่างๆ เพื่อนำมาเป็นถ่านที่มีหลายเกรด เช่น ถ่านไร้ควัน ถ่านที่ให้ความร้อนยาวนาน และอื่นๆ เพื่อนำมาแปรรูปของเหลือให้เกิดประโยชน์
  • เครื่องมือที่สามารถระบุได้ว่าทุเรียนพร้อมเก็บหรือยัง ในขณะที่ยังอยู่บนต้น เพื่อให้สามารถวางแผนการเก็บเกี่ยวได้ และได้ของที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งปกติจะใช้เก็บลงมาแล้วค่อยตรวจสอบภายหลัง จะทำให้สูญเสียเยอะ บางลูกดูไม่ออก
  • การทำเครื่องกรีดยางและเก็บยางแบบอัตโนมัติ สืบเนื่องจากการขาดแรงงานคน และผลผลิตขายไม่ได้ราคา
  • การนำยางพารามาประยุกต์ใช้แทนไม้หมอนรถไฟ ซึ่งปัจจุบันไม้หายากขึ้น
ครั้งต่อไปจะนำข้อมูลจากนักวิจัยไปนำเสนออีกครั้ง โดยได้ขอเชิญกลุ่มของผู้ประกอบการอื่นๆ ที่เป็นหลักของ จ.ระยะมาพูดคุยอีกครั้งครับ สิ่งที่เน้นย้ำคือยากให้ทำชิ้นงานออกมาให้สามารถใช้งานได้ง่าย ทนทาน และราคาไม่สูงมาก เกษตรกรชาวสวนหรือผู้ประกอบสามารถซื้อได้ง่าย/จำนวนมาก

5. การประชุมหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับบริษัท ทีเบลโก้ จำกัด

ผู้บริหาร บ. ทีเบลโก้ เข้าร่วมหารือเพื่อสร้างความร่วมมือ
ผู้บริหารบริษัท ทีเบลโก้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตแท็งค์เพื่อการขนส่งทุกชนิด ได้เข้าหารือกับผู้บริหารและคณาจารย์ โดยมีผม รองฯ วิจัย หัวหน้าภาค ME และคณาจารย์จากภาค EE และ ME เข้าร่วมหารือ โดยได้เจรจาความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
  1. การเป็นที่ปรึกษาในการเขียนคำขอเพื่อจดสิทธิบัตรของนวัตกรรมที่บริษัทได้พัฒนาขึ้น
  2. การรับทดสอบผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อการยื่นขอขึ้นทะเบียนนวัตกรรม
  3. การร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ (รายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้นะครับ
กิจกรรมความร่วมมือในลักษณะนี้เป็นก้าวสำคัญในการก่อตั้งศูนย์ Interdisciplinary Centres ครับ

6. สมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาตร์ เข้าร่วมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือและกิจกรรมร่วมกันในอนาคต

คณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือและกิจกรรมในอนาคต
คณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่า นำโดย คุณพรพนา รัตนเชษฐ์ นายกสมาคมฯ เข้าร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือและการจัดกิจกรรมในอนาคต  โดยมีประเด็นสำคัญ ๆ คือ
  1. การส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของคณะ
  2. การพัฒนาศิษย์เก่าและการสร้างเครือข่ายศิษย์เก่าให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการเชิญผู้เข้ารับการอบรมทุกหลักสูตรให้เป็นสมาชิกของสมาคมศิษย์เก่า หรือเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมด้วย
  3. การจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของศิษย์เก่า

Saturday, 29 September 2018

Week 1: ความท้าทายกับการ Upgrade ระบบบริหารเพื่อขับเคลื่อนคณะวิศวกรรมศาสตร์


Image may contain: 1 person



วันนี้เป็นวันที่ครบ 1 สัปดาห์ที่ผมได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยและประชาคมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาให้มารับหน้าที่คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อจาก ดร. อาณัติ ดีพัฒนา (พี่เอ) ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง 2 วาระ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา โดยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ในสมัยของผมนี้จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ระหว่างวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561 ถึง 22 กันยายน พ.ศ. 2565

ผมตัดสินใจสร้าง Blog นี้ขึ้นมา โดยมีความมุ่งหมายจะบันทึกและเผยแพร่ผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าของฝ่ายบริหารในการขับเคลื่อนคณะของเราและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้แก่ประชาคมผู้ปฏิบัติงานในคณะฯ ได้ทราบ ตั้งใจให้เป็นการยกระดับการจัดการสื่อสารภายในองค์การของเราให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น รวมทั้ง promote การมีส่วนร่วมของพวกเราทุกคนในการกำหนดทิศทาง บริหาร และขับเคลื่อนคณะของเราครับ

ผมตั้งใจจะ Update Blog นี้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ด้วยตนเอง โดยจะสรุปข่าวสาร และความคืบหน้าเรื่องต่าง ๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ทุกท่านได้ทราบและติดตาม รวมทั้งแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะครับ

งานสำคัญในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

มอบนโยบายให้แก่สำนักงานคณบดี

ในวันแรกของการทำงาน (จันทร์ 24 กันยายน 2561) ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณบดี ซึ่งตามปกติจะนัดประชุมกันทุกวันจันทร์ตอนเช้า และได้มอบหลักการและนโยบายการทำงานของฝ่ายสนับสนุนวิชาการ ดังนี้
  1. ขอให้ทำงานอย่างซื่อสัตย์ มีวินัย และตรงต่อเวลา
    ผมถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในองค์การของรัฐที่เน้นประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการตรงต่อเวลา ไม่ว่าจะเป็นการมาทำงาน หรือการทำงานให้สำเร็จตามกำหนด/เป้าหมาย
  2. เน้นการทำงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์
    งานสนับสนุนวิชาการมี Pain Point สำคัญคือความยุ่งยากซับซ้อนของกฎระเบียบสร้างภาระให้กับผู้ปฏิบัติงานในทุก ๆ ส่วนอย่างมาก ทำให้เกิดความล่าช้า และต้นทุน (เวลาเป็นต้นทุนสำคัญ) สูงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบที่สามารถจัดการงานที่มีประสิทธิภาพ เช่น การนำระบบอัตโนมัติหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์เช้ามาใช้ อย่างไรก็ดีการปรับระบบคิด หรือ Mindset ของผู้ปฏิบัติงานในการให้ความสำคัญกับการมุ่งไปยังผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์เป็นปัจจัยหลัก
  3. ใส่ใจการพัฒนาสมรรถนะของตนเอง
    เราตั้งเป้าหมายในการเป็นองค์การอัจฉริยะ ที่มีการนำเอาระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ ดังนั้น สมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ​ (IT) เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานอันดับแรกและเป็นจุดเน้นที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้สามารถใช้ระบบและเครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่ว
  4. การทำงานเป็นทีม
    Team Work หรือ Synergy 1+1 > 2  เป็นสไตล์การทำงานที่จำเป็น ต้องทำลายวัฒนธรรม/ความเชื่อที่บั่นทอนประสิทธิภาพขององค์การ เช่น ความคิดที่ว่าไม่ควรไปอาสาทำงานช่วยคนอื่น เพราะอาจจะถูกมอบหมายให้เป็นความรับผิดชอบของตนเอง เพิ่มงาน เป็นวัฒนธรรมที่เห็นความสำเร็จของส่วนรวมเป็นความสำเร็จของตนเอง
ผมเชื่อว่าพี่ ๆ น้อง ๆ สายสนับสนุนวิชาการในสำนักงานคณบดีจะนำเอาหลักการเหล่านี้มาใช้ในการทำงานและพัฒนางาน เพื่อให้เรายังคงรักษาแชมป์ในฐานะของสำนักงานฯ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำนักงานหนึ่งในมหาวิทยาลัย และสามารถเทียบเคียงได้กับหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพสูงอื่น ๆ ภายนอกมหาวิทยาลัยด้วยนะครับ

ทาบทามและแต่งตั้งทีมบริหาร

ผมได้ทาบทามและเสนอแต่งตั้งทีมรองคณบดี ที่จะเข้ามาช่วยกำกับดูแลงานด้านต่าง ๆ ของคณะเรา จำนวน 6 ท่าน โดยท่านอธิการบดีแจ้งว่าได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีผลบังคับในวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป  ทั้งนี้ทีมรองคณบดีจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเช่นเดียวกับคณบดี คือครบวาระในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2565  รายชื่อทีมรองคณบดี มีดังนี้ครับ

1. ดร.​ ภาณุวัฒน์  ด่านกลาง  (อ. ก้อง)
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ

Image may contain: one or more people, glasses and close-up
ดร. ภาณุวัฒน์ ด่านกลาง
อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า  ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในระบบการพัฒนาและบริหารหลักสูตรเป็นอย่างดี มีประสบการณ์ในการเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ร่วมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของการจัดการความรู้สมัยใหม่ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์จะนำมาใช้เป็นหลัก เช่น ระบบ Outcome Based Education System (OBE)

อาจารย์ก้องฯ จะดูแลระบบการจัดการศึกษา ทุกระดับ และการประกันคุณภาพ ระดับ หลักสูตรด้วยระบบ AUN/QA




2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นรรัตน์  วัฒนมงคล (อ. ช้าง)
รองคณบดีฝ่ายวิจัย บริการวิชาการ และนวัตกรรม

ผศ. ดร. นรรัตน์  วัฒนมงคล
ผู้ได้รับรางวัลรัตนบูรพา สาขา การสร้างสรรค์และประดิษฐ์คิดค้น มีผลงานสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องมือแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีภายในประเทศ ทำให้สามารถทดแทนการนำเข้าได้  รวมทั้งเป็นผู้ที่ร่วมดำเนินการในการก่อตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก (Eastern Science Park) มหาวิทยาลัยบูรพา และมีประสบการณ์ในการบริหารงานวิจัยในคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์การวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์หลายปี

อาจารย์ช้างฯ จะดูแลระบบบริหารการวิจัย บริการวิชาการ และนวัตกรรม และเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับพันธกิจการวิจัยฯ ให้เป็นพันธกิจหลักผ่านทางศูนย์พหุวิทยาการ (Interdisciplinary Centres) ของคณะฯ

3. ดร. สัญชัย  เอียดปราบ (อ. เต้)
รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต

ดร. สัญชัย เอียดปราบ
ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ในการพัฒนาศักยภาพของนิสิตให้ก้าวสู่ระดับชาติ โดยจัดทีมและผลักดันให้นิสิตทั้งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะอื่น ๆ เข้าร่วมการแข่งขันทางวิชาการระดับชาติหลายรายการ เช่น Start Up Thailand และ 24 Hours of Innovation จนได้รับรางวัลมากมาย

อาจารย์เต้ฯ จะดูแลระบบการพัฒนานิสิต ระบบสวัสดิการและสวัสดิภาพนิสิต รวมทั้งการฝึกงานและสหกิจศึกษา

4. ดร. ทนงศักดิ์  เทพสนธิ (อ. นง)
รองคณบดีฝ่ายบริหารยุทธศาสตร์และการเงิน

ดร. ทนงศักดิ์  เทพสนธิ
อดีตรองคณบดีจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ผู้มีประสบการณ์ทางด้านการบริหารยุทธศาสตร์ ธุรกิจ และการเงิน มีความรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบคุณภาพต่าง ๆ เคยดูแลระบบและหลักสูตรที่สำคัญ ๆ ของคณะมาเป็นจำนวนมาก เช่น หลักสูตร ทล.บ. หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ฯลฯ

อาจารย์นงฯ จะดูแลระบบการบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาคณะ วางและกำกับแผนกลยุทธ์การเงิน ระบบการกำกับผลงานและการประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมทั้งระบบการพัฒนาบุคลากร (HRD)


5. ดร. ปิติ  โรจน์วรรณสิทธุ์ (อ.​ เป๊ก)
รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาองค์การ

ดร. ปิติ  โรจน์วรรณสินธุ์
อดีตรองคณบดีอีกท่านหนึ่งที่เข้ามาร่วมทีมใหม่ เป็นผู้ตรวจประเมินคุณภาพตามระบบ EdPEx มีประสบการณ์ตรวจประเมินในระดับส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา เป็นผู้มีประสบการณ์ในการบริหารที่หลากหลาย และมีความรู้ความเข้าใจในระบบการบริหารงาน การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นอย่างดี

อาจารย์เป๊กฯ จะดูแลระบบการบริหารทั่วไป (Daily Operations) ของคณะ ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารทรัพยากรบุคคล (HRM) การประสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ และระบบการประกันคุณภาพระดับคณะตามระบบ EdPEx


6. รศ.​ ดร. ธงชัย  ศรีวิริยรัตน์ (อ. ธง)
รองคณบดีฝ่ายพัฒนาองค์การอัจฉริยะ

รศ. ดร. ธงชัย  ศรีวิริยรัตน์
วิศวกรสิ่งแวดล้อม ผู้มีความสนใจและความสุขในการพัฒนาระบบไอทีเพื่อการบริหาร มีผลงานในการพัฒนาระบบไอทีสำหรับการปรับเปลี่ยนการดำเนินการไปสู่ระบบอัตโนมัติ เช่น ระบบการบริหารงานวิจัย  ระบบการโอนเงินค่าตอบแทน ระบบการจัดการการประชุมวิชาการ ฯลฯ และเป็นผู้หนึ่งที่เข้าใจระบบการบริหารงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นอย่างดี

อาจารย์ธงชัยฯ จะดูแลการพัฒนาระบบต่าง ๆ ของคณะไปสู่ระบบอัตโนมัติ และดูแลระบบสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ


ทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการประจำคณะ

ตามที่ผมได้เสนอโครงสร้างของกรรมการประจำคณะผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกคณะไว้ โดยเน้นการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในแต่ละด้านที่ตรงกับบริบทและความท้าทายของคณะวิศวกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน  โดยกรรมการคณะในสมัยนี้ จะเป็น Policy Body ให้นโยบาย ตั้งเป้าหมาย กำหนดยุทธศาสตร์และกำกับผลการดำเนินการต่าง ๆ โดยผมจะตั้งกรรมการบริหารขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อลดภาระการดำเนินการที่เป็นงานประจำของคณะกรรมการประจำฯ ในขอบเขตที่ข้อบังคับกำหนดให้กระทำได้


ในสัปดาห์นี้ผมได้ทาบทามและได้รับการตอบรับจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดแล้ว ดังนี้ครับ
ศ. ดร. ศิวัช  พงษ์เพียจันทร์

1. ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร. ศิวัช  พงษ์เพียจันทร์ (ศ. 11)

ศาสตราจารย์เงินเดือนขั้นสูง หรือ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 สาขา วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้มีประสบการณ์ในการพัฒนางานวิจัยในสภาวะแวดล้อมที่มีทรัพยากรจำกัดไปสู่การสร้างผลงานวิจัยระดับโลก



2. รองศาสตราจารย์​ ดร. อธิคม  ฤกษบุตร (ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้สมัยใหม่)

รศ. ดร. อธิคม  ฤกษบุตร
รองอธิการบดี และอดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครผู้ที่มีความสนใจและเชี่ยวชาญด้านวิศวศึกษา (Engineering Education) เป็นอย่างยิ่ง โดยได้นำเอาวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดการเรียนรู้สาขาวิศวกรรมศาสตร์มาใช้อย่างได้ผล และเป็นวิทยากรในด้านนี้ให้แก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ในหลายมหาวิทยาลัย




3. ดร. พีระพงษ์  สุนทรวิภาต (ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยาบุคคลและ EEC)

ดร. พีระพงษ์  สุนทรวิภาต
อดีตผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มไทยซัมมิท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรีนเทค แอนด์ อินโนเวชั่น จำกัด มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมบริหารงานบุคคลภาคตะวันออก และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนากำลังคนสำหรับอุตสาหกรรมในเขต EEC








4. ดร. ศิรดา  จารุตกานนท์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและบัญชี)

ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและระบบบัญชี  และอาจารย์ประจำสาขาการบัญชีและการเงิน คณะการจัดการและการท่องเที่ยว  เป็นผู้ที่มีรู้ความชำนาญทางด้านการเงินและบัญชีสำหรับการบริหารวิสาหกิจที่มีพลวัตรสูง และมีความเข้าใจบริบทของส่วนงานในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี









5. คุณพรพนา  รัตนเชษฐ์  (นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์)

ศิษย์เก่าและอดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นผู้ประสบการณ์สูงในการพัฒนาและบริหารธุรกิจ และเป็นผู้บริหารระดับสูงของ  LK Group เป็นผู้ที่ทุ่มเทร่วมก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนแรก มีผลงานกิจกรรมในการส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาศิษย์เก่าจำนวนมาก





งานเร่งด่วน: การปรับปรุงหลักสูตร 62 (2 หลักสูตรที่ครบกำหนดปรับปรุง)

ในจำนวนหลักสูตรที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงให้มีความทันสมัยและเป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรนั้น มี 2 หลักสูตรได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และ สาขาวิศวกรรมระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) ที่ต้องทำการปรับปรุงให้เสร็จอย่างเร่งด่วนเนื่องจากครบกำหนดต้องปรับปรุง และให้ทันกับการเปิดรับนิสิตในปีการศึกษาหน้า หากปรับปรุงไม่ทัน จะมีความเสี่ยงต่อการไม่ผ่านมาตรฐานการกำกับคุณภาพ ซึ่งจะทำให้นิสิตในหลักสูตรไม่สามารถกู้ กยศ. หรือดำเนินการเรื่องอื่น ๆ ได้

ดังนั้นจากการหารือกับ ดร. มัณฑณา อดีตรองคณบดี กำกับดูแลงานวิชาการ จึงได้เชิญกรรมการยกร่างหลักสูตรปรับปรุงมาทำ Workshop เพื่อดำเนินการปรับปรุงให้เสร็จเรียบร้อยและกำหนด Time Frame สำหรับการเสนอมหาวิทยาลัยอนุมัติต่อไปเป็นลำดับ

จาก Timing ที่วิเคราะห์ในขณะนี้ คาดว่าหลักสูตรจะสามารถเปิดรับนิสิตได้ใน TCAS รอบที่ 2 เป็นต้นไป

ความร่วมมือด้าน Smart Living กับ อบจ. ชลบุรีเพื่อยกระดับการแพทย์ฉุกเฉินใน จ. ชลบุรี


เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561 อธิการบดี อาจารย์วิรุฬห์ และผม ได้เข้าร่วมประชุมร่วมกับ นพ. ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย  รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน  คุณวิทยา คุณปลื้ม นายก อบจ. ชลบุรี และคุณณรงค์ชัย  คุณปลื้ม นายกเทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อยกระดับระบบการแพทย์ฉุกเฉินใน จ. ชลบรี

ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการในการให้ อบจ. รับโอนศูนย์แจ้งเหตุฉุกเฉิน (1669) ที่สพฉ. ฝากให้โรงพยาบาลชลบุรีดำเนินการมาดูแล และให้ตั้งศูนย์ฯ ที่อบจ. และพัฒนาให้เป็นระบบที่ครอบคลุมทันสมัยมากขึ้น โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ Partner เอกชนเป็นผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยี (รศ. วิรุฬห์)

การดำเนินการดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำนวัตกรรมที่คณะสร้างสรรค์ขึ้นมาไปใช้ประโยชน์แก่สังคมนะครับ โดยจะได้นำไปเป็นกรณีศึกษาสำหรับการตั้งศูนย์พหุวิทยาการ (ICs) ต่อไป