ในบรรดาผลงานอันเกิดจากพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่สมควรนำมากล่าวไว้เนื่องจากสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน คือ การที่ทรงริเริ่มกิจการรถไฟไทย ซึ่งในสมัยนั้นนับว่าล้ำสมัยมากในเอเชีย พระองค์ท่านได้มีพระราชดำริให้ก่อสร้างรางรถไฟ ที่มีขนาดความกว้างราง 1,435 mm (Standard gauge) ซึ่งสามารถรองรับขบวนรถไฟสมัยใหม่ที่มีความเร็วสูงขึ้น และกำลังเป็นที่นิยมในยุโรปในขณะนั้น (ประมาณ 60% ของทั้งโลก)
อย่างไรก็ดี การพัฒนากิจการรถไฟในประเทศไทยมักได้รับผลกระทบจากสภาพการเมืองการปกครองในแต่ละยุคเสมอ รวมทั้งขนาดรางรถไฟด้วย ซึ่งสาเหตุที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงเลือกรางขนาด Standard gauge ก็เป็นแนวพระบรมราโชบายที่จะหลบเลี่ยงการคุกคามจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งบังคับให้มลายูและพม่าสร้างรางรถไฟขนาด Meter gauge (ความกว้างราง 1 m) เมื่อถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยก็ถูกบังคับให้สร้างรางรถไฟและเปลี่ยนขนาดรางที่มีอยู่เป็น Meter gauge ทั้งหมดเพื่อให้สามารถเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ใช้ขนส่งทหารและยุทโธปกรณ์ได้สะดวก รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่ถูกกว่า
มาในยุค Thailand 4.0 นี้ รถไฟความเร็วสูงนับเป็นกลยุทธ์สำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาการขนส่งให้รองรับการลงทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้พยายามสร้างความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ในปัจจุบันได้มี Research Unit ที่มุ่งวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับระบบราง และได้มีการส่งนักเรียนทุนไปศึกษาในเรื่องดังกล่าวครับ
สำหรับในสัปดาห์นี้มีเรื่องสำคัญที่อยากบันทึกเผยแพร่ไว้ ดังนี้ครับ
ความคืบหน้าในการจัดทำหลักสูตร ทล.บ. พันธุ์ใหม่
เพื่อดำเนินการยกร่างหลักสูตร ทล.บ. พันธุ์ใหม่ให้เป็นหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง จึงได้ทาบทามคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการยกร่างหลักสูตรฯ ได้แก่ อ. ชาญชัย (อุตฯ) ผศ. ดร. ภัคพงศ์ (เครื่องกล) อ. สุรชาติ (ไฟฟ้า) และ ผศ. ดร. ทิพย์สุรีย์ (สิ่งแวดล้อม) ซึ่งคณะกรรมการจะได้ทำการศึกษาความต้องการของตลาด ผู้ใช้บัณฑิต ผู้เรียน เพื่อนำข้อมูลมากจัดทำผลการเรียนรู้ และออกแบบหลักสูตรต่อไป
ในเบื้องต้นจะได้นำเสนอแนวคิดของหลักสูตรนี้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรรูปแบบใหม่ที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดขึ้นในวันที่ 16-17 พ.ย. 61 นี้ครับ
ในกระบวนการออกแบบหลักสูตรนี้ จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน รวมทั้งจากคณาจารย์ภายในคณะด้วยครับ ในขณะนี้ หากคณาจารย์มีข้อคิดเห็นสามารถเสนอได้ที่รองคณบดีฝ่ายวิชาการ (ดร. ภาณุวัฒน์) เลยนะครับ
การจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์ที่ 4 (เป้า 4) สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ
ขณะนี้คณะฯ อยู่ในระหว่างการจัดทำข้อเสนอเพื่อขอรับงบประมาณผ่าน วช. ในยุทธศาสตร์ที่ 4 (เป้าหมายที่ 4): การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
การเสนองบเป้า 4 นี้เป็นการเสนอโดยส่วนงาน โดยให้แต่ละภาควิชารวบรวมและจัดทำข้อเสนอส่งที่คณะภายในวันที่ 30 ต.ค. ก่อน 8.30 น. เพื่อนำเข้าพิจารณาในการประชุม Top Management ในวันเดียวกันเพื่อสรุปเป็นข้อเสนอของคณะ
สำหรับภาพรวมในปีนี้ คณะฯ จะเสนองบประมาณสำหรับการจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อการวิจัย และการปรับปรุง Co-Working Space เพิ่มเติม สำหรับให้บริการแก่นิสิตและคณาจารย์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
พื้นที่สำหรับสร้าง Co-Working Space สำหรับงานสร้างนวัตกรรม
ตามที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้รับครุภัณฑ์ เครื่องตัดแบบเลเซอร์ (Laser cutters) และครุภัณฑ์อื่น ๆ จาก สวทช. สำหรับการสร้าง Co-Working Space ให้นิสิตและคณาจารย์ รวมทั้งบุคคลทั่วไปมาใช้บริการในการสร้างต้นแบบนวัตกรรม ที่ประชุม TM ได้ให้ความเห็นชอบในการใช้พื้นที่โรงประลองของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นพื้่นที่สำหรับการจัด Co-Working Space ดังกล่าว
โดยจะมีการให้บริการเครื่องมือสำหรับการสร้างต้นแบบฯ ได้แก่ เครื่อง Laser Cutters ขนาดต่าง ๆ 3D Printers, CNC รวมทั้งเครื่องมือช่างพื้นฐาน โดยในอนาคต Co-Working Space นี้จะอยู่ในความดูแลของ IC หนึ่ง (เช่น ICRA - Interdisciplinary Centre for Robotics and Automations) ขณะนี้ได้มอบหมายให้ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลยกร่างระเบียบการเข้าใช้และอัตราค่าบริการให้สะดวกแก่ผู้ประสงค์ใช้งานมากที่สุด คาดว่าน่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเร็ว ๆ นี้ครับ
กรรมการสมทบในคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์
มหาวิทยาลัยได้ร้องขอให้คณะฯ ส่งข้อมูลคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยฯ หรือเสนอผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมการฯ ของมหาวิทยาลัย จำนวน 2 คน เพื่อพิจาณาข้อเสนอโครงการวิจัยที่อาจมีผลกระทบต่อสุขพลานมัย ความปลอดภัย และจิตใจของผู้เกี่ยวข้องกับการวิจัยนั้น ๆ
เนื่องจากจำนวนโครงการวิจัยของนิสิตในคณะฯ มีไม่มาก จึงไม่ได้ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมฯ ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ คณะฯ จึงเลือกส่งกรรมการสมทบ 2 ท่านแทน และได้เปิดรับสมัครผู้สนใจเป็นคณะกรรมการจริยธรรมวิจัย โปรดแจ้งแก่หัวหน้าภาควิชานะครับ
การทบทวนโครงสร้างของคณะกรรมการพัฒนานิสิตและศิษย์เก่าสัมพันธ์
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา เสนอให้พิจารณาทบทวนโครงสร้างของคณะกรรมการพัฒนานิสิตฯ จากเดิมแต่งตั้งจากผู้แทนฝ่ายพัฒนานิสิตของภาควิชาจำนวน 1 คนเป็นกรรมการ เป็น 1-2 คน เนื่องจากเห็นว่ามีภาระงานในส่วนของศิษย์เก่าสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้น
ที่ประชุม TM พิจารณาแล้วเห็นชอบให้ปรับโครงสร้างตามที่เสนอ โดยแต่ละภาควิชาสามารถเสนอแต่งตั้งกรรมการได้ 1-2 คน โดยให้แบ่งสัดส่วนภาระงานต่อปีกันตามความเหมาะสม (รวมไม่เกิน 200 ชั่วโมงต่อปี)
แนวทางการสรรหาหัวหน้าภาควิชา
ที่ประชุม TM ได้มีการพิจารณาแนวทางในการสรรหาหัวหน้าภาควิชา โดยได้กำหนดหลักการไว้ว่า หัวหน้าภาควิชา ควรเป็นบุคคลที่ผู้ปฏิบัติงานในภาควิชายอมรับ และสามารถบริหารงานไปในแนวทางที่สนับสนุนแผนยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาคณะฯ ได้ โดยได้มอบหมายให้รองคณบดีฝ่ายบริหารฯ ไปยกร่างประกาศการสรรหาหัวหน้าภาควิชา ให้สอดคล้องกับประกาศฯ ของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ให้ยึดแนวทาง/ขั้นตอน ดังนี้
- ให้ผู้ปฏิบัติงานในภาควิชามีสิทธิเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา
- ทาบทามผู้ได้รับการเสนอชื่อ
- ผู้ที่ตอบรับ จัดทำแผนปฏิบัติการ/แผนพัฒนาภาควิชาที่สอดคล้องและตอบสนองต่อแผนยุทธศาสตร์และแนวทางการพัมนาคณะ และนำเสนอต่อประชาคมในภาควิชาและคณะกรรมการบริหารคณะ
- ภาควิชาประชุมคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา ลงมติ นับเป็น 1 เสียง
- คณะกรรมการบริหารคณะฯ พิจารณาคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา ลงมติ นับเป็น 1 เสียง
- กรณีที่มติตามข้อ 4 และ 5 แตกต่างกัน ให้คณบดีเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด
แนวทางดังกล่าวนี้ จะได้ใช้กับภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นภาควิชาแรกครับ
การจัดทำรายวิชาศึกษาทั่วไป
มหาวิทยาลัยกำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างรายวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งในรอบนี้ คณะกรรมการบริหารวิชาการ ได้มีมติให้นำรายวิชาศึกษาทั่วไปมาบริหารจัดการตรงกลาง โดยอาจจะตั้งเป็นสำนัก/สถาบันศึกษาทั่วไป หรือบริหารในรูปคณะกรรมการ
แนวทางสำหรับการจัดรายวิชาศึกษาทั่วไปในรอบใหม่นี้ จะแบ่งรายวิชาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มวิชาพลเมืองไทย และพลเมืองโลก
- กลุ่มเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิต
- กลุ่มเสริมสร้างสมรรถนะการทำงาน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นและกำหนดผลการเรียนรู้ (LOs) สำหรับกลุ่มวิชาต่าง ๆ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย
พิธีไหว้ครูคณะวิศวกรรมศาสตร์
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 25 ตุลาคม สโมสรนิสิตและฝ่ายพัฒนานิสิตได้ร่วมกันจัดพิธีไหว้ครูคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา พ.ศ. 2561 ขึ้น เพื่อให้นิสิตชั้นปีที่ 1 ได้ทำพิธีมอบตัวเป็นศิษย์และรับพรจากคณาจารย์ โดยในพิธีนี้ ได้รับเกียรติจากนายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมมอบทุนการศึกษาแก่นิสิตด้วย
ดร. ปิติ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประเภท ผู้แทนสมาชิก
ตามที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ลงคะแนนเสียง คัดเลือก ดร. ปิติฯ รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาองค์การ เป็นผู้แทนไปรับคัดเลือกเป็นกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประเภทผู้แทนสมาชิก นั้น ผลการคัดเลือกกันเองปรากฏว่า ดร. ปิติฯ ได้รับการคัดเลือกเป้นกรรมการกองทุนฯ ดังกล่าวครับ
ขอแสดงความยินดีและขอบคุณ ดร. ปิติ มา ณ โอกาสนี้ เพื่อที่จะช่วยเป็นปากเป็นเสียงแก่บุคลากร และร่วมบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนฯ สำคัญต่อระบบสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเราครับ